ประวัติ ของ ดิกนีตี้ รีเทิร์นส์

เวิร์คช็อปกับทาริงปาดี 2551

กลุ่มโซลิดาริตี้ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนงานบริษัท เบด แอนด์ บาธ ซึ่งถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามสิทธิแรงงาน ทำให้คนงานลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เป็นเวลาสามเดือนกว่าจึงมีข้อสรุปและยุติการชุมนุมลงได้ พวกเขาจึงรวมตัวกันจัดตั้งโรงงานของคนงานขึ้น ชื่อว่าโรงงานกลุ่มโซลืดาริตี้ ภายใต้คำขวัญที่ว่า "โรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน"[1][2][3]

ความเป็นมา

ตุลาคม พ.ศ. 2545 - มกราคม พ.ศ. 2546 รวมเวลา 3 เดือน 10 วัน ที่คนงานบริษัทเบท แอนด์ บาธ กว่า 350 คน ซึ่งถูกนายจ้างลอยแพด้วยการปิดโรงงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยคนงานกว่า 800 คน ก่อนหนีออกนอกประเทศไทย ได้รวมตัวกันชุมนุมที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิตามกฏหมายของพวกเขา

ระหว่างนั้น คนงานที่ร่วมชุมนุมได้พยายามช่วยกันหารายได้มาเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งด้วยการนำดอกไม้ไปขายตามที่ประชุมต่างๆ รับจ้างเขียนป้ายผ้าให้กับงานสัมมนา และที่สำคัญคือ พวกเขาได้ตั้งโรงงานขนาดเล็กที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน โดยนำเครื่องจักรเย็บผ้า 7 ตัว มาตัดเย็บเสื้อผ้าฝ้ายและกระเป๋าสะพายจำหน่ายให้แก่คนทั่วไป โดยทำการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลือกซื้อผ้่า ออกแบบ ตัดเย็บ และถักลวดลายด้วยไหม อีกทั้งยังมีการสกรีนเสื้อยืดเป็นข้อความ "ดิกนีตี้ อิส น็อท ฟอร์ เซล - ศักดิ์ศรีไม่ได้มีไว้ขาย" (dignity is not for sale) และรูปภาพการเดินขบวนของคนงาน ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ผลิตในนาม "เมด อิน ดิกนีตี้" (made in dignity) ซึ่งเป็นยี่ห้อที่พวกเขาตั้งขึ้นเอง

การชุมนุมครั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2546 การต่อสู้อันยาวนานดังกล่าวส่งผลให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต้องแก้ไขระเบียบข้อบังคับที่สำคัญ โดยได้ขยายการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (เดิมจ่ายเพียง 30 เท่า) ในกรณีค่าจ้างค้างจ่าย รวมทั้งในกรณีค่าชดเชยสำหรับคนงานที่มีอายุเกิน 60 ปี (เดิมจ่ายเพียง 30 เท่า ไม่ว่าจะทำงานมากี่ปีก็ตาม) ทำให้อดีตคนงานของบริษัทเบด แอนดฺ บาธ ได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง คนละประมาณ 14,800 บาท นอกจากนี้ยังได้รับเงินจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการอีกคนละ 2,000 บาท

โรงงานในฝัน

หลังการชุมนุม คนงานที่ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้แยกย้ายไปหางานทำในโรงงานใหม่ ในขณะเดียวกัน บาดแผลที่ได้รับจาก บริษัท เบด แอนด์ บาธ ได้ทำให้อดีตคนงานหลายคนรู้สึกเข็ดหลาบเกินกว่าที่จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมได้ กอปรกับความเบื่อหน่ายชีวิตในเมืองใหญ่ จนทำให้อดีตคนงานหลายคนตัดสินใจกลับคืนสู่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง อดีตคนงาน บริษัทเบด แอนด์ บาธ จำนวน 40 คน ได้ร่วมกันก่อตั้ง "กลุ่มโซลิดารีตี้" (Solidarity Group) โรงงานเล็กๆ ของพวกเขาขึ้น โดยร่วมกันกู้เงินจากธนาคารออมสินจำนวน 700,000 บาท และอีกส่วนหนึ่งจากเพื่อนพ้องคนรู้จักรวมทั้งองกรณ์ที่สนับสนุน มาเป็นเงินลงทุนตั้งโรงงาน เป้าหมายคือผลิตสินค้าภายใต้ยี่ห้อ "ดิกนีตี้ รีเทิร์นส์" (Dignity Returns) ซึ่งเป็นยี่ห้อของกลุ่มเอง โดยเปิดตัวโรงงานเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546

กลุ่มโซลิดาริตี้และโรงงานของพวกเขา เกิดจากประสบการณ์ของคนงานที่ถูกนายจ้างและระบบอุตสาหกรรม-ทุนนิยมกดขี่ขูดรีด จนหวาดผวาที่จะกลับไปมีชีวิตและสภาพการทำงานเช่นนั้นอีก ที่สำคัญก็คือโรงงานเล็กๆ แห่งนี้เกิดจากความใฝ่ฝันของพวกเขา ซึ่งอยากจะเห็นโรงงานที่เป็นของคนงานเอง ปราศจากการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ และการบังคับขู่เข็ญจากนายทุน พวกเขาฝันเอาไว้ว่า วันหนึ่งโรงงานแห่งนี้จะมีความมั่นคง และมีรายได้ดีพอจะนำไปตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหา รวมทั้งสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

"...ผมเข้าใจว่ามันยาก แต่ก็จะทำอย่างตั้งใจ ให้มันเป็นจริงขึ้นมาให้ได้ เราจะพิสูจน์ตัวเอง..."(วิเศษ สารมะโน, สมาชิก "กลุ่มโซลิดาริตี้")

เนื่องจากโรงงานยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงทำให้โรงงานกลุ่มโซลิดาริตี้มีงานเข้ามาไม่มาก แม้ว่าพวกเขาจะพยายามประสานงานกับองค์กรและสหภาพแรงงานต่างๆ เพื่อรับตัดเสื้อ ป้ายผ้า ผ้าคาดหัว กระเป๋า ฯลฯ ในงานรณรงค์และงานสัมมนาต่างๆ แต่รายได้จากงานเหล่านี้ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายของโรงงาน เช่น ค่าเช่าตึก ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทั้งภาระหนี้ที่กู้ยืมจากธนาคาร ซึ่งต้องผ่อนส่งเดือนละหลายหมื่นบาท

ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ความเป็นโรงงานเล็กๆ ทุนสำรองมีไม่มาก ทำให้ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบคราวละมากๆ เพื่อให้ราคาผลิตภัณฑ์ถูกลง ซึ่งทำให้กลุ่มโซลิดาริตี้และดิกนีตี้ รีเทิร์นส์ยังไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับโรงงานใหญ่ๆ ได้ ปัจจุบัน กลุ่มโซลิดาริตี้จึงยังต้องรับงานตัดเย็บ รีด และบรรจุเสื้อผ้าจากโรงงานอื่น ซึ่งบางครั้งก็เป็นงานที่ส่งต่อกันมาหลายทอด และแน่นอนว่าค่าจ้างย่อมถูกหัก-ถูกลดลงตามจำนวนครั้งที่ส่งทอดงาน

"...เสื้อผ้าที่เรารับจากโรงงานอื่นมาทำ รับต่อกันมาหลายทอด ตัวหนึ่งทำ 20-30 ขั้นตอน แต่เราได้ค่าแรงตัวละ 16 บาท ซึ่งมันน้อยมาก ถ้าเรารับเองทำเอง ไม่ต้องผ่านใคร ชีวิตความเป็นอยู่ของเราน่าจะดีกว่านี้..." (สุนี นามโส, สมาชิก"กลุ่มโซลิดาริตี้")

โรงงานดิกนีตี้ รีเทิร์นส์

"...บางครั้งคนภายนอกก็บอกว่า เรายังต้องทำงานหนักไม่ต่างจากที่โรงงานเดิม แต่เรารู้ว่ามันต่าง เพราะที่นี่ไม่มีใครบังคับ ไม่มีนายจ้างคอยเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีใครคอยขู่ตะคอกด่า และที่สำคัญที่สุดมันเป็นโรงงานของพวกเราเอง..."[4](มานพ แก้วผกา, สมาชิก"กลุ่มโซลิดาริตี้")

จากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 - ถึงปัจจุบัน เส้นทางยาวไกลและยากลำบาก ที่สำคัญคือปัญหาจากภาระส่วนตัวรุมเร้า ทำให้สมาชิกหลายคนจำใจต้องแยกทางออกไป ปัจจุบัน สมาชิกกลุ่มโซลิดาริตี้จึงเหลือสมาชิกเพียงแค่ 16 คน

รางวัลของการทุ่มเททำงานหนักและอดออม ก็คือภาระหนี้ธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ย เป็นเงิน 875,280 บาท ได้ถูกปลดเปลื้องลงหมดสิ้นแล้วด้วยฝีมือแรงงาน และกำลังใจของพวกเขาเอง และหนี้อีกส่วนซึ่งก้อนเล็กกว่าก็กำลังถูกปลดเปลื้องให้หมดภายในเร็ววัน

นอกเหนือจากการทุ่มเททำงานหนัก และเข้าร่วมกิจกรรมของขบวนการแรงงานทุกครั้งที่มีโอกาสแล้ว ภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มคือการพยายามฟัฒนาฝีมือ แม้ว่าแต่ละคนจะเป็นอดีตผู้ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์เนมชื่อดังก้องโลก ซึ่งหมายความว่ากลุ่มโซลิดาริตี้ไม่เป็นรองใคร แต่พวกเขาไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งด้วยการค้นคว้าและเข้าร่วมการฝึกอบรมต่างๆ อุปสรรคสำคัญของพวกเขาในวันนี้คือโอกาสที่จะได้แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ ไปทั่วโลกก็เท่านั้นเอง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ดิกนีตี้ รีเทิร์นส์ http://www.bangkokbiznews.com/home/news/life-style... http://www.conferenceofbirds.com/now.html http://www.dignityreturns.com/ http://fineart-magazine.com/news_popup.php?id_news... http://fuzzypictures.wordpress.com/2010/02/03/call... http://ipsnews.net/interna.asp?idnews=21891 http://ipsnews.net/news.asp?idnews=32800 http://www.nidambe11.net/ekonomiz/news/news2002nov... http://www.conferenceofbirds.org/ http://elbag.org/main/index.php?option=com_content...